หิน (Rock) เป็นของแข็งที่ประกอบด้วยแร่ชนิดเดียวหรือหลายชนิดรวมตัวกันอยู่ตามธรรมชาติ เป็นได้ทั้งอนินทรียวัตถุ และอินทรียวัตถุ อันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเปลือกโลก คำนิยามนี้ รวมตั้งแต่ส่วนที่อ่อนยุ่ย เช่น ดินตะกอนและโคลน ไปจนถึงหินซึ่งแข็งจริงๆ แต่ส่วนใหญ่นิยมใช้จำกัดเฉพาะส่วนที่เป็นของแข็ง ของเปลือกโลกเท่านั้น ตามที่ได้กล่าวแล้วว่าหินประกอบด้วยแร่ แต่หินบางชนิดก็อาจประกอบด้วย อินทรียวัตถุเป็นส่วนใหญ่ โดยมีปริมาณแร่ประกอบอยู่ไม่มากนัก เช่น ถ่านหิน
การจำแนกหิน
นักธรณีวิยาสามารถจำแนกหินตามลักษณะการเกิดของหินออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ หินอัคนี (Igneous rocks) หินชั้นหรือหินตะกอน (Sedimentary rocks) และหินแปร (Metamorphic rocks)
1.หินอัคนี (Igneous rocks) เกิดจากการเย็นตัวแล้วแข็งตัวของหินหลอมเหลวใต้พื้นผิวโลก (แมกมา)หรือลาวา ซึ่งหินหลอมเหลวแต่ละแห่งมีองค์ประกอบไม่เหมือนกัน ทำให้มีสีหรือเนื้อหินมีลักษณะต่างกัน หินอัคนีมีลักษณะเป็นหินแข็ง ประกอบด้วยผลึกที่ไม่มีชั้นให้เห็นและหากแมกมามีการปะทุจากปล่องภูเขาไฟออกมาเป็นลาวาแล้วมีการเย็นตัวอย่างรวดเร็ว จะเกิดรูพรุนที่เนื้อหิน เนื่องจากการไหลออกของอากาศที่แทรกอยู่ในหิน หินชนิดนี้จะไม่มีซากดึกดำบรรพ์ปรากฏอยู่ ตัวอย่างหินอัคนี
เช่น หินแกรนิต หินแอนดีไซด์ เป็นต้น
2. หินตะกอนหรือหินชั้น (sedimentary rocks) เกิดจากการทับถมอัดแน่น
และมีการเชื่อมประสานของตะกอนที่เกิดจากการผุพังของหินชนิดต่างๆ ทั้งจากการทับถมของกระแสน้ำ กระแสลมที่พัดพามา ทำให้เกิดการประสานตัวกันแน่นกลายเป็นหิน หินชนิดนี้ส่วนใหญ่มีลักษณะเปราะและแตกง่าย เนื้อหินจะสามารถมองเห็นเม็ดหินได้ และอาจพบซากดึกดำบรรพ์ได้ในหินประเภทนี้ ตัวอย่างหินประเภทนี้ได้แก่ หินกรวดมน หินปูน หินทราย เป็นต้น
3. หินแปร (Metamorphic rocks)เกิดจากการแปรสภาพของหินเดิม (ทั้งหินอัคนีและหินตะกอน)
เนื่องจากความร้อนและความดันจากแรงกดทับภายใต้ผิวโลกมีมาก
จนทำให้รูปร่างและลักษณะของเนื้อหินเปลี่ยนไป มีลักษณะแข็งและสามารถเห็นแยกเป็นชั้นๆ
หรือเห็นแถบชั้นได้อย่างชัดเจน อาจพบซากดึกดำบรรพ์ที่มีสภาพไม่สมบูรณ์ได้ในหินประเภทนี้ ตัวอย่างหินประเภทนี้ได้แก่ หินอ่อน หินชนวน เป็นต้น
การเกิดหินทั้งสามประเภทดำเนินไปพร้อมๆ กับวิวัฒนาการของเปลือกโลก
โดยจะมีการเกิดขึ้น ผุพัง แปรสภาพ สามารถสรุปเป็นวัฏจักรของหินได้ดังรูป
วัฏจักรหิน |